สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

นิติกรรมใดที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปแล้ว เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

นิติกรรมที่เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนนิติกรรมได้นั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แล้วคำว่า เสียเปรียบนั้น หมายความว่าอย่างไร ซึ่งขออธิบายว่า คำว่าเสียเปรียบจะต้องเป็นกรณีที่ทำให้ ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้
ตามประเด็นดังกล่าวนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 237  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า
มาตรา 237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น กำหนดให้นิติกรรมที่เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนได้นั้น มีจำแนกออกเป็น ๒ จำพวก คือ นิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยมีค่าตอบแทน และนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยไม่มีค่าตอบแทน โดยมีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ซึ่งที่นิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและมีค่าตอบแทนนั้น การที่จะเพิกถอนได้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่า ลูกหนี้รู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและต้องพิสูจน์ว่า บุคคลภายนอกรู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงจะสามารถเพิกถอนนิติกรรมได้ ส่วนนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยไม่มีค่าตอบแทน เพียงแต่พิสูจน์ให้ได้ความว่า ลูกหนี้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องพิสูจน์ถึงว่า บุคคลภายนอกรู้ว่าการทำนิติกรรมกับลูกหนี้นั้น ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

ทนายความเชียงใหม่ จะนำเสนอให้คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองแนะให้เป็นกรณีศึกษาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2535 โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีอื่นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่งให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้ว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ขณะทำการรับโอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ได้โดยสิ้นเชิง แม้จำเลยที่ 1 จะมีลูกหนี้ร่วมคนอื่นก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับชำระหนี้ได้นอกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงทำให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้แก่โจทก์ อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2532 โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่าง ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงใหญ่ และได้ มาจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกจากกันเป็นคนละ 1 แปลง แต่ ยังไม่ได้จดภารจำยอมทางเดินเข้าออกเนื่องจากยังไม่มีโฉนด ทุกคนทราบว่าทางเดินกว้าง 6 เมตร และจะมาจดภารจำยอมเรื่องทางเดินผ่านเมื่อได้รับโฉนด ที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ดังนี้ เมื่อทุกคนต่าง ได้รับโฉนด ที่แบ่งแยกใหม่แล้ว จึงมีหน้าที่ต้อง ปฏิบัติตาม ข้อตกลง แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะขายที่ดินแปลงของตน ให้โจทก์ที่ 5 และที่ 6และโจทก์ที่ 4 จะยกที่ดินแปลงของตน ให้โจทก์ที่ 7 ซึ่ง เป็นเจ้าของที่แท้จริงไปแล้วก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดโดย อาศัยสิทธิซึ่งกันและกันก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตาม ข้อตกลงได้ การที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงของตน ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4ซึ่ง เป็นบุตรของตน และอาศัยอยู่กับตน โดยเสน่หา ทั้งจำเลยที่ 2ถึง ที่ 4 ได้ ทราบว่า จำเลยที่ 1 ต้อง จดทะเบียนทางภารจำยอมมาตั้งแต่ แรก โดย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่ต้อง รีบโอนให้จำเลยที่ 2ถึง ที่ 4 ก่อนจดทะเบียนภารจำยอมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า ทั้งผู้ยกให้และผู้รับยกให้ต่าง ทราบดี ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าของที่ดินแปลงข้างในเสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ได้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เพื่อให้ได้ มาซึ่ง ทางภารจำยอมเท่านั้น มิใช่ให้โอนที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การบังคับให้เพิกถอนการให้จึงไม่จำเป็นแก่การบังคับเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ผู้ยกให้หรือจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4ผู้รับการยกให้ที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนภารจำยอมมาด้วย ศาลจึงพิพากษาให้เฉพาะ จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของตน ได้ โดย ไม่จำต้องเพิกถอนการให้